AiroTEC CMRU ร่วมกิจกรรมการบินกับองค์การ NASA ด้วยเครื่องบิน Douglas DC-8 เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศระดับโทรโพสเฟียร์ในประเทศไทย
อาจารย์ ดร.รัชพล สัมพุทธานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฯ AiroTEC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เชิญให้เข้าร่วมในโครงการงานวิจัยด้านคุณภาพอากาศ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) เพื่อเก็บข้อมูลฝุ่นละอองในอากาศด้วยอากาศยาน เพื่อศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของสภาพอากาศและปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทยด้วยเครื่องบิน Douglas DC-8 ขององค์การ NASA ณ สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 15 – 18 มีนาคม และวันที่ 22 – 26 มีนาคม 2567 ในครั้งนี้ อาจารย์ ดร.รัชพล สัมพุทธานนท์ ได้มีโอกาสร่วมบินกับเครื่องบิน DC-8 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ภายในเครื่องบินบรรจุเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 25 รายการ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศเชิงลึกได้กว่า 100 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในแนวดิ่ง Vertical Profile เก็บข้อมูลตามระดับความสูงของบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ระดับล่าง ตั้งแต่ 50 – 11,000 ฟุต โดยได้ร่วมการบินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 โดยเริ่มจากสนามบินอู่ตะเภามีเส้นทางไปยังสนามบินดอนเมือง สนามบินสุโขทัย เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก และอู่ตะเภา ไปกลับเป็นจำนวน 2 รอบ สำหรับโครงการ ASIA-AQ เป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ ประกอบด้วยการติดตั้งเครื่องมือระดับพื้นดิน (Ground Measurement) ระดับอากาศโดยการใช้เครื่องบินสำรวจคุณภาพอากาศโดย NASA DC-8 และ G-III และระดับดาวเทียมด้วยดาวเทียมระบบ GEMS, TROPOMI ความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถได้รับข้อมูลที่จะวิเคราะห์คุณภาพอากาศได้หลากหลายและเชิงลึกมากขึ้นเพื่อสามารถอธิบายพฤติกรรมของคุณภาพอากาศและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
ภาพ และข่าว โดย: ทีมประชาสัมพันธ์ ศูนย์ AiroTEC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่