อาจารย์ ดร.รัชพล สัมพุทธานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฯ AiroTEC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้าร่วมโครงการ Clean Air Without Border โครงการความร่วมมือไทย-ลาว สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นำเสนอแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อผู้บริหารระดับสูง เอกอัครราชทูต คณะกรรมการจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการจากทั้ง ไทยและสปป.ลาว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร
สำหรับการนำเสนอ มีผู้แทนทีม AiroVet ประเทศไทยคือ อาจารย์ ดร.รัชพล สัมพุทธานนท์ และสปป.ลาวคือ สพ.ญ.จันทพร สิงห์วงศา เริ่มจากการสำรวจพื้นที่โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์พื้นที่เผาไหม้ (burn area) ด้วยดัชนี dNBR ร่วมกับข้อมูล Hotspot เพื่อทราบพฤติกรรมเชิงพื้นที่และช่วงเวลาของการเผาไหม้ภาคการเกษตร เพื่อนำไปสู่แนวคิดการจัดการเพื่อลดการเผาไหม้ โดยนำเสนอแนวทางเชิงสร้างสรรค์ให้กับเกษตรกรคือ การนำตอซังฟางข้าวมาหมักเพื่อเป็นอาหารสัตว์เสริมโภชนาการโปรตีนทำให้วัวโตเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังได้นำเสนอทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน อาทิ การผลิตภาชนะ, จาน, กระถาง, แผ่นผนังจากฟางข้าวเพิ่มมูลค่า, การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวเพิ่มรายได้, และฟางก้อนอรรถประโยชน์ โดยสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่มีทรัพยากร เครื่องจักรเพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรกับผู้รับซื้อที่มีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์
โครงการ Clean Air Without Border สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์ก ประจำประเทศไทย (Grand Duchy of Luxemborg, Embassy in Thailand) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เกิดจากความร่วมมือระหว่าง UNDP Accelerator Lab ไทยและลาว รวมถึง Youth Co Lab ในการสร้างพื้นที่ให้คนไทยและลาวแลกเปลี่ยนข้อมูล ระดมสมอง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาข้ามแดนที่ทั้งไทยและลาวต่างกำลังเผชิญร่วมกันอย่างยั่งยืน
ภาพ และข่าว โดย: ทีมประชาสัมพันธ์ ศูนย์ AiroTEC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ห้อง 27141, 27142 ชั้น 14 อาคารราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร 27)
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถนนช้างเผือก ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300
© สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566. AiroTEC CMRU.