สหประชาชาติ UNDP ให้การสนับสนุน AiroTEC CMRU
จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศลดการเผาไหม้ภาคการเกษตร
AiroTEC ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในความร่วมมือไทย-ลาว สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ Clean Air Without Border โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าวเพื่อลดการเผาไหม้ภาคการเกษตร ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กลุ่มปลูกข้าวบ้านต้นขาม ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากผู้แทนจาก UNDP ประจำประเทศไทยมาเยี่ยมชมกิจกรรมในโครงการ ได้แก่ คุณพัทธมน รุ่งชวาลนนท์ และทีมงาน UNDP
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มวิสาหกิจ และชุมชน รวมจำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ปลูกข้าวบ้านต้นขาม 2) ผู้รับซื้อฟางเพื่ออัดก้อน 3) ผู้เลี้ยงวัว 4) วิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าใบไม้ฟางข้าวบ้านซาง 5) กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวบ้านดอกแดง 6) อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 7) เกษตรอำเภอแม่ริม 8) เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลขี้เหล็ก 9) เจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ และ 10) ผู้แทน UNDP มีการเสวนาเพื่อบูรณาการหน่วยงานร่วมกับชุมชนเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่ง การเสริมสร้างความรู้ และความตระหนักในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5
ในครั้งนี้ได้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้การนำตอซังฟางข้าวไปใช้ประโยชน์เพื่อลดการเผาไหม้ภาคการเกษตร ตั้งอยู่ ณ บ้านต้นขาม โดยมีนางปดิตถา คำซื่อ เป็นผู้นำแหล่งเรียนรู้ฯ มีการสาธิตการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวเพื่อลดการเผามีองค์ความรู้จากเครือข่ายต่างๆ อาทิ อาหารสัตว์เสริมโภชนาการ, ทำปุ๋ยหมักและคลุมดินปลูกพืช, ทำภาชนะจานชามเพิ่มมูลค่า, ฟางก้อนอรรถประโยชน์, ไถกลบเป็นปุ๋ยในนาข้าว และ เพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืช การบำรุงรักษา ประโยชน์ของการไม่เผาฟางข้าว โดยนางรัชนีวรรณ์ เป็งพรม เกษตรอำเภอแม่ริม, นายตะวัน วิจารณ์เจริญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เทศบาลตำบลขี้เหล็ก, นายเอกชัย ภักดีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่, อาจารย์ปิยวดี นิลสนธิ หลักสูตรศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รวมทั้งการบรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเครือข่ายชุมชนคือ นางสำเนียง นันติแก้ว ผู้รับซื้อฟางอัดก้อน, นายทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล วิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มจากใบไม้, นายเกษม พานวนทิศ ผู้นำชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวบ้านดอกแดง
โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ดำเนินงานโดย อาจารย์ ดร.รัชพล สัมพุทธานนท์ จากศูนย์ฯ AiroTEC หรือ ศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมกับหน่วยงานและเยาวชน คือ นายสุเมธ จันทร์แย และ นางสาวฐิติรัตน์ จันทร์พุฒิ การดำเนินงานได้กระทำคู่ขนานไปกับสมาชิกจากทีมสปป.ลาว ณ พื้นที่ตัวอย่างบ้านหนองบัวแว เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ โดยความร่วมมือนี้เน้นการสร้างกลไกให้เกิดเป็นตัวอย่าง (pilot project) เพื่อส่งเสริมลดการเผาไหม้ภาคการเกษตรโดยสร้างแรงจูงใจเชิงสร้างสรรค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรประเภทตอซังฟางข้าว โดยจะมีการนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูง เอกอัครราชทูต อธิบดีกรมฯ หน่วยงานแห่งสหประชาชาติ (United Nations) ในโอกาสต่อไป และสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนลดการเผาไหม้ภาคการเกษตรเพื่ออากาศที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพ และข่าว โดย: ทีมประชาสัมพันธ์ ศูนย์ AiroTEC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่